วันพุธที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2557

วัดเขียน

 วัดเขียน



วัดเขียน เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เลขที่ 140 หมู่ 2 ตำบลบางไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ที่ดินที่ตั้งวัดมีเนื้อที่ 14 ไร่ โฉนดที่ดินเลขที่ 62256 อาณาเขตที่ดิน ทิศเหนือ กับทิศใต้ จดที่ธรณีสงฆ์ ด้านทิศตะวันออก จดที่แม่น้ำเจ้าพระยา ด้านทิศตะวันตก จดที่ดินวัดสังฆทาน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.2328 ซึ่งเป็นวัดที่มีความเก่าแก่ เพราะจากการสันนิษฐานคาดว่าสร้างในสมัยธนบุรี ซึ่งสังเกตได้จากสถาปัตยกรรมของอุโบสถ ที่ใช้ถ้วยชามสังคโลกในการประดับหน้าบรรณอุโบสถและไม่มีช่อฟ้าใบระกาเฉกเช่นกับวัดทั่วไป แต่เมื่อพินิจดูแล้วจะคล้ายกับศาลเจ้าของคนจีน อีกทั้งการปูพื้นของอุโบสถก็มิได้ลงเสาเข็มเช่นอุโบสถสมัยใหม่ แต่กลับใช้การขุดหลุมแล้วนำไม้ซุงไปขัดไว้เป็นชั้นๆ แทนการตอกเสาเข็ม ซึ่งเป็นสาเหตุให้ไม่สามารถยกอุโบสถขึ้นได้มีตำนานเล่าขานเกี่ยวกับวัดเขียนสืบต่อกันมาว่า บริเวณเดิมของวัดเขียนในอดีต เป็นท่าเทียบเรือของพ่อค้าชาวจีนที่นำสินค้าเข้ามาติดต่อซื้อขายที่กรุงธนบุรีและบริเวณท่าเทียบเรือแห่งนี้ ได้มีการสร้างศาลของชาวจีน (ศาลเจ้าปึงเถ้ากง) ไว้สำหรับเป็นที่เคารพสักการะของพ่อค้าชาวจีนที่สัญจรผ่านไปมา รวมถึงชาวบ้านที่อยู่บริเวณใกล้เคียงต่อมามีพระสงฆ์รูปหนึ่ง (ไม่ปรากฏนาม) ได้เดินธุดงค์ผ่านมาและมาปักกลดพัดที่บริเวณนี้ เมื่อชาวบ้านระแวกใกล้เคียง รวมถึงพ่อค้าชาวจีนท่านหนึ่งพบเข้าจึงเกิดความศรัทธา จากนั้นพ่อค้าชาวจีนจึงได้ถวายปัจจัยจำนวนหนึ่ง ซึ่งมากพอสำหรับการสร้างวัด โดยพ่อค้าชาวจีนนั้นมีนามว่า นายเคี้ยง และเมื่อสร้างวัดเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ได้ตั้งชื่อวัดตามชื่อของผู้ถวายปัจจัยว่า วัดนายเคี้ยง หลังจากนั้นนายเคี้ยง ได้ร่วมกับชาวบ้านสร้างพระพุทธรูปไว้เป็นที่สักการะบูชา โดยให้ชื่อว่า หลวงพ่อดำ ซึ่งในปัจจุบันองค์หลวงพ่อดำ ถือได้ว่าเป็นพระประจำวัดเขียน ที่มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างยิ่ง สังเกตได้จากจะมีผู้คนแวะเวียนมาแก้บนกับองค์หลวงพ่อดำ อยู่เนืองๆจากในอดีตที่ผ่านมาจากวัดที่ชื่อว่าวัดนายเคี้ยง ชาวบ้านก็เรียกสืบต่อกันมาจนเพี้ยนกลายเป็นวัดเคี้ยน และเพี้ยนมาจนถึงปัจจุบันจนกลายเป็นวัดเขียนอย่างที่เรียกกันในปัจจุบัน ด้วยวัดเขียนนั้นเป็นวัดที่มีประวัติความเป็นมาอย่างช้านาน จากในอดีตถึงปัจจุบันมีเจ้าอาวาสปกครองวัดเขียนจำนวน 10 รูป มี 1.พระอาจารย์เข็ม 2.พระอาจารย์ทอง 3.พระครูวิรัตน์ 4.พระครูนวการโกศล 5.พระอาจารย์ภู 6.พระอาจารย์ชุบ 7.พระอาจารย์ถม 8.พระปลัดสังวาลย์ นฺนทิโย พ.ศ.2499-2532  9.พระสมุห์ประดิษฐ์ รตนากโร  พ.ศ.2532-2545 10.พระครูปลัดจุลภัค เขมวีโร พ.ศ.2545-ปัจจุบันท่านเจ้าอาวาสวัดเขียนรูปปัจจุบันคือท่านพระครูปลัดจุลภัค เขมวีโร หรือท่านอาจารย์ไก่ ซึ่งเป็นที่เรียกกันอย่างติดปากของสหธรรมมิก คณะศิษยานุศิษย์และชาวบ้านทั่วไป พระเครื่อง-วัตถุมงคล ท่านได้จัดสร้างขึ้นมาตั้งแต่  ปี พ.ศ.2547 ท่านมีวัตถุประสงค์จัดสร้างอาคารกุฏิสงฆ์ จำนวน 20 ห้อง โดยให้ชื่ออาคารไว้ว่า เขมวีรานุสรณ์ ท่านจึงได้จัดสร้างทำวัตถุมงคลเป็นรูปเศียรพระบรมบาครูพ่อปู่ฤาษีรุ่น 1 เพื่อหาปัจจัยในการสร้างอาคารกุฏิสงฆ์ กลุ่มคนที่บูชาวัตถุมงคลเศียรฤาษีรุ่น 1 ส่วนใหญ่ท่านจะโด่งดังทางต่างประเทศ ลูกศิษย์ลูกหาจะมาจากประเทศสิงคโปร์ และทางฮ่องกงเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยบุคคลเหล่านี้จะรู้จักท่านผ่านทางอินเตอร์เน็ต เนื่องจากมีบุคคลที่เช่าบูชาเศียรฤาษีรุ่น 1 แล้วได้เขียนเล่าประวัติพุทธคุณและอิทธิฤทธิ์ของวัตถุมงคลด้านเมตาตามหานิยมลงในอินเตอร์เน็ตและส่งต่อๆ กันจนมีชื่อเสียงโด่งดังในต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ทางท่านพระครูปลัดจุลภัค เขมวีโร ได้จัดสร้างพระเครื่อง-วัตถุมงคลรุ่นที่ 2 ของวัดเขียน พ.ศ.2552 โดยท่านจะนำรายได้จากการจัดสร้างวัตถุมงคล นำมาสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ทดแทนหลังเดิม ที่มีความทรุดโทรมมาก ท่านจึงได้ทำวัตถุมงคลเศียรฤาษีรุ่น 2 ให้เช่าบูชาและด้วยความมุ่งมั่น ที่จะรวบรวมปัจจัยในการสร้างอุโบสถ นอกเหนือจากการออกวัตถุมงคลเศียรฤาษีรุ่น 2 แล้ว ท่านยังได้ทำพิธีอาบน้ำมนต์ สะเดาะเคราะห์ รวมถึงการดูดวงชะตา เพื่อให้บุคคลที่ท้อแท้จากเรื่องต่างๆ ได้เกิดขวัญและกำลังใจให้ผ่านพ้นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับบุคคลนั้นไปได้ด้วยดี ประวัติและความเป็นมา พระครูปลัดจุลภัค เขมวีโร ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเขียนตั้งแต่ พ.ศ.2546 ท่านเกิดที่ตรอกวัดโสมนัสฯ ณ บ้านเลขที่ 614 ถ.กรุงเกษม เขตป้อมปราบฯ กรุงเทพมหานคร บิดาชื่อนายชั้วเช็ง รักไทยเจริญชีพ มารดาชื่อนางสุรีย์ รักไทยเจริญชีพ มีพี่น้อง 6 คน ท่านเป็นบุตรชายคนที่ 5 ของครอบครัว ประวัติการศึกษา พระครูปลัดจุลภัค เขมวีโร  ได้เข้ารับการศึกษาในระดับประถมศึกษา 1-7 ที่โรงเรียนวัดโสมนัสฯ และศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาที่ 1-3 ที่โรงเรียนวรบุตรวิทยา หลังจากจบการศึกษาปีที่ 3 ท่านได้ออกจากบ้านเพื่อเผชิญโชคชะตาตามความคิดที่อยากเห็นโลกทัศน์ที่กว้างไกลตามแนวคิดที่ว่า โลกนี้มีสรรพสิ่งอีกมากมายที่ต้องเรียนรู้หาประสบการณ์ด้วยตนเอง ท่านจึงได้ออกเดินทางไปที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และจากแรงบันดาลใจที่ตั้งใจเรียนรู้สรรพสิ่งในโลกกว้างเป็นความโชคดีหรือบุญบารมีที่ท่านได้พบกับพระนิกายจีนผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดฉื่อฉาง ฉายาท่านอาจารย์เย็นเฮ้า ท่านอาจารย์เย็นเฮ้าได้ถ่ายทอดวิชากรรมฐานและพลังจิตให้ด้วยความปีติยินดี
ต่อมาเมื่อท่านอายุได้ 24 ปี มีความประสงค์ที่จะบวชที่วัดฉื่อฉาง ซึ่งเป็นวัดในนิกายจีน แต่มารดาของท่านมีความประสงค์ให้ท่านบวชในวัดไทย ดังนั้นท่านจึงได้กลับมาอุปสมบท ณ วัดคณิกาผล เขตป้อมปราบฯ กทม. เมื่อปี พ.ศ.2531 และด้วยจิตที่ตั้งมั่นมีวิริยะ อุตสาหะในการบำเพ็ญเพียร ท่านได้มีโอกาสศึกษาวิชาสายของหลวงปู่ทวด จากเกจิอาจารย์ผู้ทรงคุณความรู้ จนกระทั่งพรรษาที่ 19 ท่านได้ย้ายจากวัดคณิกาผล มาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดเขียน ตำบลบางไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ตั้งแต่ พ.ศ.2545-ปัจจุบัน
สำหรับวัดเขียนนั้นได้จัดงานประจำทุกปี โดยจะมีพิธีสะเดาะเคราะห์ในคืนไหว้วันตรุษจีนของทุกปี, พิธีไหว้ครู จัดในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี, งานทิ้งกระจาด จัดในวันสารทไทยของทุกปี วัดเขียน จากชื่อของวัดดูสมชื่อทั้งชื่อวัดและที่ตั้งคือ ตำบลบางไผ่ ชื่อวัดเขียนคงเสมือนกับการให้เราขีดเขียนรูปลักษณ์ใหม่ก็คือการสร้างอุโบสถหลังใหม่เนื่องจากวัดเขียนตั้งอยู่ไกลจากถนนนครอินทร์ ช่วงสะพานพระราม 5 ซึ่งด้านหน้านั้นเต็มไปด้วยภัตตาคารที่ดูร่ำรวย แต่วัดเขียนเป็นวัดที่ดูทรุดโทรม ศาลาการเปรียญที่ดูเก่าคร่ำครึ เวลาถึงฤดูฝนฝนก็ตกกระหน่ำลมก็แรงเนื่องจากเป็นพื้นดินที่แห้งแล้งและโล่งเตียน ส่งผลให้ลมพัดกรรโชก บางครั้งก็พัดเอาก้อนอิฐหรือเต็นท์ของวัดไปตกบนหลังคาศาลาการเปรียญ ส่งผลให้ทางวัดมีงานทำเพิ่ม คือการซ่อมแซมหลังคา โดยการซ่อมแซมนั้นผู้ที่ทำหน้าที่ช่างก็คือพระภิกษุ สามเณรภายในวัด เนื่องจากการปัจจัยในการจ้างช่างมาซ่อมแซม จะสร้างอุโบสถก็ขาดงบประมาณ ผู้คนก็แวะเวียนเข้ามาที่วัดน้อยเพราะการคมนาคม ท่านเจ้าอาวาสปรารภหลายครั้งว่าวัดนี้ทำไมอาภัพนัก หรืออาจจะเป็นเพราะชื่อของวัดเขียน ทำให้ต้องมาเริ่มขีดเขียนใหม่ ท่านจึงอยากตัดความอาภัพให้มีความทุเลาเบาบางลง โดยการที่ท่านได้ตั้งปณิธานที่จะช่วยเหลือคนที่มีความทุกข์ ให้พ้นจากความทุกข์นั้นๆ ทั้งจากการอาบน้ำมนต์ สะเดาะเคราะห์ หรือแม้แต่งานทิ้งกระจาดที่ทางวัดจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี อีกทั้งท่านยังช่วยตัดกรรมของบุคคลที่ทำแท้ง หรือมีความเกี่ยวข้องกับการทำแท้งไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่เจตนา ด้วยเมตตาจิตของท่านที่จะช่วยเหลือผู้คนให้พ้นกรรมสู่สิ่งที่ดีงาม อันที่จะเป็นผลบุญส่งให้ความอาภัพของวัดได้จางหายไป จนเกิดความเจริญรุ่งเรืองนี่คือสิ่งที่เป็นปฏิธานที่ท่านได้มุ่งมั่นปฏิบัติมาโดยตลอด วัดเขียนถึงแม้จะเป็นวัดเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนตำบลบางไผ่ หมู่ 2 แต่ก็ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนในละแวกใกล้เคียง และยังช่วยสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้แก่สังคมสืบต่อไป
สำหรับผู้มีจิตศรัทธาที่จะร่วมบุญกุศลสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ หรือจะติดต่อเช่าบูชาวัตถุมงคลสามารถติดต่อโดยตรงกับ ท่านพระครูปลัดจุลภัค เขมวีโร ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดเขียน ตำบลบางไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี โทรศัพท์ 0-2446-6554,08-9516-7369







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น